
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ใช้มานานกว่า 5 ปี แล้วซึ่งตามระเบียบกฎหมายใดที่มีการใช้มานาน 5 ปี แล้วควรต้องมีการทบและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นจังหวัดที่พอดีกับกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พอดี ทำให้เราได้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวยังต้องมีการปรับปรุงอีกหลายด้าน เดิมตอนที่ออกกฎหมายเพื่อควบคุมป้องกันโรคนั้น เพียงต้องการสกัดไม่ให้โรคติดต่ออันตรายเข้ามาในประเทศได้ เช่น มีข้อกำหนดให้คนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของไข้เหลือง หรือคนไทยจะเดินทางไปพื้นที่นั้นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อน เป็นการป้องกันโรคระดับเล็กๆ ไม่ได้คิดถึงโรคระบาดในระดับนานาชาติ เรื่องการจัดการกับคนหมู่มาก ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจโดยเฉพาะมาตรการบังคับยามเกิดวิกฤติโรคระบาด และอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 1 ก.ย.นี้
“แต่พอรอบนี้เกิดโรคระบาดระดับนานาชาติ อย่างโรคโควิด-19 ซึ่งเราต้องทำในเชิงของการป้องกันอย่างเข้มข้น แต่หลายๆ อย่างเราไม่มีอำนาจ จึงต้องไปอาศัยอำนาจของกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายทางเดินอากาศ เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ ดังนั้นตอนนี้เราจะมีการยกร่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มีฤทธิ์ในการจัดการกับคนหมู่มากได้ และมีบทลงโทษสำหรับคนที่ฝ่าฝืน เช่น คำสั่งให้ต้องใส่หน้ากาก เราจะเห็นเลยว่าอย่างต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์เวลาเกิดการระบาดใหญ่ เขาสั่งได้ทันทีเลยว่าให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน ฝ่าฝืนก็มีบทลงโทษ เขาถึงจัดการได้เด็ดขาด ในขณะที่เรายังใช้เรื่องของการขอความร่วมมือ ซึ่งโชคดีที่คนไทยให้ความร่วมมือ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นของร่างพรบ.โรคติดต่อ (ฉบับที่...) พ.ศ... ลงนามโดยนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 ระบุส่วนหนึ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ หากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งตามพ.ร.ก.ดังกล่าวถูกยกเลิกตามไปด้วย ซึ่งมาตรการทางกฎหมายตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งควรบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น
1.การให้ราชการบริหารส่วนกลางมีอำนาจในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสม และตามความจำเป็น เพื่อให้ทันต่อสถานการณืของโรค ทั้งนี้ กรณีทั่วราชอาณาจักรหรือเฉพาะบางพื้นที่ เช่น การกำหนดให้บุคคลที่จะเข้าไปในสถานที่สาธารณะของพื้นที่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างกว้างขวางต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 2. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของผู้เดินทางในการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาดมิให้มีการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร เช่น การกำหนดให้ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
3.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขของสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อใช้สำหรับแยกกัก หรือกักกันผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เช่น ประเภทของสถานที่ หรือลักษณะ หรือมาตรฐานของสถานที่สำหรับเป็นที่แยกกักหรือกักกันผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด 4. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการกำกับดูแล การได้มา การเข้าถึงการเก็บรักษา การนำไปใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด เช่น การให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นหรือการใช้ระบบติดตามอาการของผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือ การให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด
5. การกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้อย่างเหมาะสม ทันสถานการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีคำสั่งให้แยกกัก กักกันหรือคุมไว้สังเกตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 41 และ 42 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่เพื่อใช้แยกกักหรือกักกัน ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่หรือยานพาหนะ 7. การกำหนดให้บุคคลที่พบว่าตนเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย และโรคระบาดมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่นเดียวกับบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ. ศ. 2558
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 18 ส.ค. – 1 ก.ย.2563 ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค https://ift.tt/2YMo2Uk
//////////////
August 30, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/2GbpA3Z
สธ.ลุยแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มอำนาจบังคับจัดการโรคระบาด - เดลีนีวส์
https://ift.tt/3cBBBtN
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สธ.ลุยแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มอำนาจบังคับจัดการโรคระบาด - เดลีนีวส์"
Post a Comment